ตราบาปจากบุพการี


          ในการแบ่งปัญหาของผู้หญิงและเด็กที่มาขอรับความช่วยเหลือที่บ้านพักฉุกเฉินนั้นมักจะแบ่งตามประเภทของ ปัญหา เช่น ปัญหาท้องไม่พร้อม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาถูกข่มขืน เป็นต้น ซึ่งเราจะพิจารณาจากปัญหา ปัจจุบันของคนๆนั้น เพื่อที่จะได้ให้การดูแลช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงเมื่อได้พูดคุย ล้วงลึก ถึงปัญหาของแต่ละคนแล้วเรามักจะได้พบกับปัญหาอีกหลายอย่างที่ทับซ้อนอยู่ในชีวิตของพวกเธอเหล่านั้นจนบางทีเราเองก็เริ่มสับสนว่า จริงๆแล้วปัญหาที่รุนแรงที่สุดในชีวิตของเธอคืออะไร... เพราะดูมันช่างหนักหนาไปเสียทุกปัญหาหากเอาปัญหาเหล่านั้นมาชั่งหาความรุนแรงว่าอันไหนที่รุนแรงกว่ากัน...ตัวตราชั่งเองก็คงหนักใจอยู่ไม่ใช่น้อย... อย่างเช่นชีวิตของ...น้องหนิง...

          เด็กหญิงวัย 12 ปี ซึ่งในเบื้องต้นเราได้พูดคุยกันในประเด็น ปัญหาท้องไม่พร้อม แต่ภายใต้ปัญหานั้นเรากลับได้พบอีกปมปัญหาหนึ่งซึ่งเราเองไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลย... หนิงเล่าถึงเหตุที่นำเธอมายังบ้านพักฉุกเฉินว่า

          “ยายเพิ่งพาหนิงมาที่นี่เมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง เพราะหนิงท้องได้ 7 เดือนแล้วแฟนไม่รับผิดชอบ ไปทำแท้งมาก่อนหน้านี้แต่ก็ทำไม่ได้เพราะท้องโตแล้ว ตอนเด็กๆหนิงอยู่กับย่าเพราะแม่กับพ่อเลิกกันตั้งแต่หนิงยังไม่รู้เรื่อง แล้วพ่อก็ไปมีครอบครัวใหม่ หนิงเคยไปอยู่กับพ่อและแม่เลี้ยงช่วงหนึ่ง แต่ก็กลับมาอยู่กับย่าอีก...“

          “เมื่อเล่าถึงตรงนี้ น้องหนิงก็หยุดเล่าอย่างกะทันหันด้วยสีหน้าและแววตาที่ดูคล้ายลำบากใจ เราจึงเกิดความสงสัยแต่ก็เก็บงำเอาไว้เพื่อให้น้องหนิงได้ตั้งตัวและไว้วางใจเรามากขึ้น ดังนั้นจึงเลี่ยงไปถามถึงแฟนของน้องหนิงแทน เมื่อเปลี่ยนเรื่องท่าทีของน้องหนิงก็เปลี่ยนไป ดูผ่อนคลายมากขึ้น และเล่าเรื่องแฟนให้ฟังว่า“

          ตอนที่หนิงคบกับพี่เขา หนิงอายุ 11 ปี พี่เขาอายุ 18 ปี หนิงก็ไม่ได้คบพี่เขาคนเดียวหรอก ยังคบกับคนอื่นๆอีกสองสามคน พี่เขาก็เหมือนกันเขาก็คบกับผู้หญิงอื่นอีกหลายคน เราก็ไม่ได้จริงจังอะไรกันนักหรอกค่ะ ปกติหนูจะกินยาคุม พี่เขาก็จะใช้ถุงยางอนามัย แต่เราก็ไม่ได้ใช้ตลอดก็เลยพลาดท้องขึ้นมา ตอนท้องได้ 5 เดือน บอกให้น้ารู้น้าพาไปทำแท้งแต่เขาคิดเงินตั้งหลายหมื่นก็เลยไม่ได้ทำเลยต้องมาอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน

          เราจึงสอบถามน้องหนิงต่อเกี่ยวกับผู้ปกครองคือพ่อและย่าว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้และได้แจ้งความหรือไม น้องหนิงตอบคำถามของเราด้วยความเงียบอยู่ครู่หนึ่ง แต่แล้วเธอก็เล่าต่อด้วยน้ำเสียงอันสั่นเครือว่า

          “พ่อเขาก็รู้ แต่เขาไม่อะไรหรอกค่ะเพราะเขาก็เคยทำหนู“ นั่นคือประโยคที่ทำให้เราถึงกับอึ้งและพยายามควานหาถ้อยคำในสมองของตนเองอยู่นาน ว่าควรล่วงล้ำเข้าไปถึงความขมขื่นของเด็กวัย12 ปีคนนี้หรือไม่ หรือควรหยุดไว้เพียงเท่านี้ รับรู้แค่ปัญหาท้องไม่พร้อมในปัจจุบันของน้องเขาดีหรือไม่ แต่เแล้วด้วยหน้าที่เราก็ตัดสินใจเอ่ยถามด้วยความสุดแสนจะเกรงใจว่า

          “ถ้าพี่จะขอรบกวนให้น้องหนิงช่วยเล่าถึงสิ่งที่พ่อทำหนู ให้พี่ฟังได้ไหม เท่าที่หนูจะสะดวกใจและสบายใจที่จะเล่า“ น้องหนิงหยุดคิดสักครู่ พร้อมกับเอ่ยด้วยเสียงอันแสนเบาพอที่จะได้ยินกันสองคนคล้ายกับเกรงว่าใครจะมาได้ยินว่า

          “ได้ค่ะ...ตอนนั้นหนูเรียนอยู่ ป.1-ป.2หนูไปอยู่กับพ่อและแม่เลี้ยง พ่อเมาเหล้าแล้วมาข่มขืนหนูหลายครั้ง จนแม่เลี้ยงกับน้ารู้เรื่องก็เลยเอาตัวหนูกลับมาบ้านย่า... เรื่องนี้ไม่มีใครรู้นอกจากน้ากับแม่เลี้ยง เพราะกลัวย่าเสียใจย่าก็แก่แล้ว“
เราไม่ได้ถามอะไรน้องหนิงต่ออีกนอกจากการส่งสายตาและคำพูดเพื่อให้กำลังใจสู้ต่อไป เพราะรู้ว่าเท่าที่เธอได้เล่ามาก็เพียงพอ สำหรับเธอและเราแล้ว

          หลังจากการพูดคุยกับน้องหนิง เรากลับมาด้วยความรู้สึกที่หนักอึ้ง สีหน้า แววตา และน้ำเสียงของเด็กคนนั้นยังอยู่ในความทรงจำจนขณะนี้ เราไม่อาจสรุปได้ว่า ที่น้องหนิงมีความสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคนทั้งที่เธออายุยังน้อยนั้นเป็นผลมาจากสิ่งที่พ่อกระทำกับเธอในวันนั้นหรือไม่ ปัญหาท้องไม่พร้อมในวันนี้อาจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความรุนแรงทางเพศที่เธอเคยประสบในอดีต ในวัยที่เธอเพิ่งอายุเพียง 6-7 ขวบ ซ้ำร้ายผู้ที่หยิบยื่นเคราะห์กรรมในครั้งนั้นให้กับเด็กหญิงตัวน้อยๆก็คือพ่อแท้ๆของเธอเอง...

          ปัจจุบันน้องหนิงพักเพื่อรอคลอดที่บ้านพักฉุกเฉิน เธอจะได้รับการดูแลและช่วยเหลือตามกระบวนการในการดูแลเด็กและเยาวชนที่ท้องไม่พร้อม ทั้งด้านการรักษาพยาบาลส่งตรวจครรภ์-ฝากครรภ์และคลอดบุตรการให้คำแนะนำปรึกษา การดูแลเยียวยาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต จากนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา อีกไม่เกินสองเดือนน้องหนิงก็จะให้กำเนิดเด็กทารกเพศหญิงออกมาดูโลกใบนี้อีกหนึ่งคน น้องหนิงตั้งใจว่าจะเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองและเรียนหนังสือไปด้วย ซึ่งเธออาจเป็นหนึ่งในโครงการ เพิ่มต้นทุนชีวิตแม่วัยรุ่น ของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ต่อไป

หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. อีเมลล์: knitnaree@hotmail.com และ ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-3 ต่อ 109,113 หรือ 0 2 929 2308 อีเมลล์: admin@apsw-thailand.org

Facebook: สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯบ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง www.facebook.com/apswthailand.org หรือ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดผ่านทางเว็บไซด์สมาคม www.apsw-thailand.org