จากหลังแรก เพิ่มเป็นบ้านพักฉุกเฉินหลังที่ 2 และที่ 3
ในสมัยนั้นยังไม่มีองค์กรอื่นทำที่พักพิงช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่เดือดร้อน บ้านพักฉุกเฉินจึงประสบปัญหาในด้านสถานที่คับแคบไม่เพียงพอแก่ผู้หญิงและเด็กที่มาขอความช่วยเหลือที่ถูกส่งมาจากหลายแห่ง ทั้งตำรวจ โรงพยาบาล พลเมืองดี หรือมาเอง คุณหญิงกนิษฐาจึงได้มองหาลู่ทางในการขยับขยาย ซึ่งได้รับบริจาคที่ดินจาก คุณรวีวรรณ บำรุงรักษ์ จำนวน 21 ไร่ บริเวณทุ่งสีกัน ดอนเมือง เมื่อได้ที่ดินมาแล้ว การหาทุนเพื่อปลูกสร้างอาคารต่างๆจึงค่อยๆเริ่มขึ้น
ด้วยความศรัทธาต่อแนวการดำเนินงานสาธารณกุศลของสมาคมฯ และต่อความเสียสละมุ่งมั่นในการทำงานของคุณหญิงกนิษฐา ซึ่งเป็นนายกสมาคมฯ ในขณะนั้น ทำให้หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศและผู้มีจิตศรัทธาได้ให้การสนับสนุนมากมาย เช่น 24 Hours Television NTV ประเทศญี่ปุ่น ได้บริจาคเงินสร้างบ้านพักหลังที่ 2 อดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ และภรรยา มิสซิสโรซาลีน คาร์เตอร์ ซึ่งได้มาเยี่ยมชมการดำเนินงานของบ้านพักฉุกเฉินในระหว่างการเยือนประเทศไทยได้ร่วมบริจาคเงินในนามกองทุนมูลนิธิโกลเบิ้ล 2000 เพื่อสร้างคลินิคผู้หญิง ซึ่งใช้เป็นสถานที่ดูแลผู้หญิงที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม นายเรียวอิชิ ซาซากาวา นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ได้บริจาคเงินเพื่อก่อสร้างศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพสตรี พร้อมตั้งกองทุนให้สมาคมฯได้ใช้ดอกผลดำเนินงานต่างๆตามเป้าหมายที่วางไว้ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ได้ร่วมสมทบทุนสร้างอาคารบ้านพักฉุกเฉินหลังที่ 3 โดยใช้ชื่อว่าอาคารคุณหญิงสิน เพื่อเป็นเกียรติแก่มารดาของท่าน
สมาคมฯ ได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี ฯ เสด็จเปิดอาคารบ้านพักฉุกเฉิน 2 และ 3 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2530 และ 18 พฤษภาคม 2538 ตามลำดับ
แรงสนับสนุนต่างๆที่ได้รับจากทุกภาคส่วนภายใต้การนำของคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ ทำให้บ้านพักฉุกเฉินสามารถให้บริการได้อย่างอย่างครอบคลุมเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาอย่างแท้จริง
เมื่อบ้านพักฉุกเฉินสามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ และความช่วยเหลือเป็นไปอย่างครบวงจร คือ ครอบคลุมตั้งแต่การให้ที่พักพิง ดูแลสุขภาพ ฟื้นฟูสภาพจิตใจและอารมณ์โดยนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา เสริมสร้างทักษะชีวิตรวมทั้งการให้ความรู้ด้านต่างๆที่เป็นประโยชน์ และเนื่องจากได้มีการก่อตั้งศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพ จึงได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างทักษะสำหรับการประกอบอาชีพที่ผู้เดือดร้อนสามารถเลือกรับการอบรมได้ตามความสนใจหรือความถนัด ซึ่งจะช่วยให้สามารถพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ เมื่อพ้นจากการดูแลโดยบ้านพักฉุกเฉินไปแล้วด้วย
ประสบการณ์การช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กขยายกว้างตามปีที่ผ่านไป ในขณะเดียวกันก็ได้ให้บทเรียนที่หลากหลาย และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทำงานในเชิงรุกไปพร้อมกับความพยายามที่จะช่วยเหลือ เพราะปัญหาที่ผู้หญิงประสบนั้น หลายปัญหาน่าที่จะป้องกันได้ หลายกรณีต้องเอื้อมให้ไกลออกจากตัวผู้หญิงที่ประสบปัญหาและรวมถึงการดูแลและปรับบริบทของปัญหา และหลายปัญหามีมิติของวัฒนธรรมและมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจต้องทบทวนปรับเปลี่ยนไปพร้อมกัน และต้องอาศัยมาตรการ วิธีการและแนวทางที่แตกต่าง จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อครอบคลุมงานในเชิงรุกที่ต้องขยายกลุ่มเป้าหมายไปให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วจะส่งผลที่อาจลดทอนปัญหาต่างๆได้
ในปี 2533 คุณหญิงกนิษฐา จึงได้ร่วมกับ ดร. สุธีรา วิจิตรานนท์ และคุณหญิงกนก สามเสน วิล ก่อตั้งสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ซึ่งมีภารกิจดำเนินงานวิจัยเชิงปฏิบัติการรวมทั้งรณรงค์เพื่อการกำหนดและปรับเปลี่ยนนโยบายที่เอื้อต่อการเสริมสร้างสถานภาพของผู้หญิง โดยตั้งแต่เริ่มต้น ได้จัดทำฐานข้อมูลหญิงชายที่สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและผู้ชายในด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองและการบริหาร ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายและแผนที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย
ในขณะเดียวกัน อีกช่องทางของการลดปัญหาที่ผู้หญิงประสบนั้น เป็นงานระยะยาวที่ต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังกับเยาวชน จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์เยาวชนดอนเมืองร่วมพัฒนาสังคมไทยขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณธรรม หล่อหลอมและปลูกฝังจิตสำนึกต่อส่วนรวม และส่งเสริมให้มีทัศนคติที่เคารพต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โดยในช่วงเริ่มต้นนั้น ได้มุ่งจัดกลุ่มแกนนำเยาวชนในเขตดอนเมือง และฝึกอบรมความเป็นผู้นำโดยแทรกแนวคิดในเรื่องยาเสพติด โรคเอดส์ และประยุกต์หลักธรรมะเพื่อการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน