วันทื่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล
เดือนพฤศจิกายนจึงเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรง

สัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว (White Ribbon) เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ชายติดเพื่อแสดงถึงการร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนแรง ต่อสตรี โดย
"ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี"
ในทุกรูปแบบ ปัจจุบันสัญลักษณ์นี้ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว

ความเป็นมา

          การรณรงค์ติดริบบิ้นสีขาวเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรี ได้ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศแคนาดา เมื่อปี ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล จำนวน 14 คน โดยผู้ทำการรณรงค์เป็นกลุ่มอาสาสมัครชาย จำนวนประมาณ 1,000,000 คน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และต้องการยุติปัญหาดังกล่าว จึงได้เรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และแสดงตนว่าจะไม่เป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อสตรี โดยการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อ ซึ่งหมายถึง การยอมรับว่าจะไม่ทำร้ายหรือนิ่งเฉยต่อการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ และในปี 1999 (พ.ศ.2542) องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" สำหรับประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" เพื่อมุ่งเน้นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี โดยดำเนินการรณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายน ให้สังคมได้ตระหนักและร่วมป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีให้หมดสิ้นไป

สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กับปัญหาความรุนแรง

          สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ซึ่งเปิดบ้านพักฉุกเฉินเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหามาเป็นเวลากว่า 32 ปี สมาคมฯ จึงมีความเกี่ยวข้องและต้องพบปะกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และความรุนแรงในครอบครัวมาโดยตลอด และยิ่งนับวันปัญหายิ่งซับซ้อนมากขึ้นๆ ซึ่งสำหรับคนหลายๆ คนก็อาจคิดว่า ความรุนแรงนั้นคือการทำร้ายร่างกายกัน ส่วนความรุนแรงทางเพศก็คือการถูกข่มขืนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงของสังคมปัจจุบันแล้วเราจะพบว่า ความรุนแรงนั้นแฝงมาในรูปแบบหรือมีหน้าตาที่หลากหลาย จนบางครั้งเราต่างคิดไม่ถึงว่ามันคือความรุนแรงด้วยซ้ำ เช่น การทอดทิ้งไม่เลี้ยงดูบุพการี การข่มขืนภรรยาตนเอง การใช้วาจาหรือสายตาแทะโลม การที่สามีนอกใจภรรยา สามีด่าทอ กักขัง ดูถูกเหยียดหยาม ลูก หรือภรรยา หรือแม้กระทั่งการกีดกันปิดกั้นทางสังคม การไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ปัญหาท้องไม่พร้อม ทั้งจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่รับผิดชอบของฝ่ายชาย หรือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการไม่สามารถต่อรองเรื่องการคุมกำเนิดกับคู่ครองได้ การติดโรคทางเพศสัมพันธ์จากสามี ก็คือความรุนแรง หรือแม้แต่การเห็นผู้หญิงเป็นเครื่องบำเรอหรือเป็นวัตถุทางเพศ เช่น สื่อโฆษณาต่างๆ ที่มักปลูกฝังความเชื่อจนเข้าสู่จิตใต้สำนึกของมนุษย์แล้วนั่นก็คือ ผู้หญิงที่ ขาว ผอม ขายาวเรียว หมวย อึ๋ม จมูกโด่ง ตาโต อกเป็นอก เอวเป็นเอว มีสะโพกเท่านั้น คือคำจำกัดความของผู้หญิงสวย ส่งผลให้ผู้หญิงเราต้องไปขึ้นเขียงพึ่งสารเคมี เข็ม และมีดหมอ จนบางรายต้องสังเวยชีวิตไปก็มี กรณีนี้ก็ถือเป็นความรุนแรงเช่นกัน... แต่ในความรุนแรงหลายอย่างคนในสังคมเห็นบ่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชินซึ่งต่อมาจึงกลายเป็นเรื่องปกติและต่อมาก็กลายเป็นการยอมรับ...

นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากบ้านพักฉุกเฉินของสมาคมฯ ในช่วงเดือนมกราคม - 20พฤศจิกายน 2555 พบว่า

ผู้หญิงไม่พร้อมจำนวน 101 ราย ซึ่ง แบ่งเป็น
  • ท้องกับแฟน/สามี ไม่รับผิดชอบ 69 ราย ซึ่งฝ่ายหญิงดำเนินคดี 2 ราย
  • ท้องและถูกสามีทุบตี ทำร้าย 21 ราย ในจำนวนนี้สามีทุบตีเพราะติดยาบ้า 15 ราย
  • ท้องถูกสามีบังคับไปทำแท้ง 1 ราย
  • ท้องจากการถูกข่มขืน 6 ราย ในจำนวนนี้มีหญิงปัญญาอ่อน 1 ราย
  • ท้องและติดเชื้อเอชไอวี 2 ราย
  • ท้องไม่มีคนดูแล 2 ราย เนื่องจากสามีเสียชีวิต 1 ราย และสามีติดคุก 1 ราย

ผู้หญิงถูกสามีทำร้ายร่างกาย (ไม่ตั้งครรภ์) จำนวน 48 ราย ในจำนวนนี้สามีทุบตีเพราะติดยาบ้า 4 ราย สามีทอดทิ้งหายไป 1 ราย ผู้หญิงและเด็กที่ถูกคนในครอบครัวทำร้าย 3 ราย แบ่งเป็น
  • พ่อแท้ๆ ทำร้ายและไล่ออกจากบ้านเนื่องจากเด็กมีปัญหาพฤติกรรม 1 ราย
  • พ่อเลี้ยงทำร้าย 1 ราย
  • ลุงทำร้าย 1 ราย

ถูกข่มขืน/อนาจาร/ล่วงละเมิดทางเพศ (ไม่ตั้งครรภ์) จำนวน 5 ราย แบ่งเป็น
  • ถูกเพื่อนชายข่มขืน 1 ราย
  • ถูกปู่กระทำอนาจาร ล่วงละเมิด 1 ราย
  • ไม่ระบุผู้กระทำ 3 ราย

ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย 1 ราย

ติดเชื้อ เอช ไอ วี จากสามี/เอดส์ (ไม่ตั้งครรภ์) 9 ราย

ผู้หญิงสูงอายุถูกทอดทิ้งจำนวน 6 ราย (อายุ 53 ปี/อายุ 58 ปี/อายุ 64 ปี/อายุ 61 ปี/อายุ 82 ปี จำนวน 2 ราย)

          นี่เป็นเพียงสถิติที่พบจากการที่ผู้หญิงและเด็กมาขอรับความช่วยเหลือที่บ้านพักฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งเราจะต้องตระหนักว่ายังมีผู้ถูกกระทำอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในมุมมืด ไม่กล้าส่งเสียง และต้องเก็บงำความเจ็บปวดไว้กับตนเองเพียงลำพัง ด้วยเหตุผลอันหลากหลาย ซึ่งความอับอาย นั้นเป็นเหตุผลอันดับต้นๆ เลยทีเดียว...

          ถ้าลองวิเคราะห์สภาพสังคมในทุกวันนี้ หากเราไม่พูดถึงเรื่องผู้ชายทำร้ายผู้หญิง หรือเด็กถูกทำร้าย เราก็จะยังคงพบว่ามีความรุนแรงอยู่ในทุกแห่ง ผู้คนสมัยนี้แม้มองหน้ากันก็สามารถที่จะฆ่ากันได้ การขับรถปาดหน้ากันก็ทำให้คนๆ หนึ่งคว้าปืนออกมายิงคนอีกคนหนึ่งได้ง่ายๆ การมีความเห็นที่ขัดแย้งกันก็นำไปสู่การชกต่อยและประหัตประหารกันได้อย่างง่ายดาย และหากมีสารกระตุ้น เช่น ยาบ้า หรือ เหล้าด้วยแล้ว ความรุนแรงมักเกิดง่ายและเร็วและแรงมากขึ้นอีกด้วย

          ความจริงก็ถึงเวลามานานมากแล้วที่สังคมไทยควรยุติ ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรง แต่จะทำอย่างไร? ก็คงต้องกลับไปที่ครอบครัว สังคมที่เล็ก แต่สำคัญที่สุดที่จะเป็นสถาบันที่จะปลูกฝังคุณธรรม การให้เกียรติการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเรื่องเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา รวมทั้งการเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา สังคมโดยรวมก็จะปราศจากความรุนแรงและคงเป็นสังคมที่สงบสุข

          ...เราทุกคนสามารถยุติความรุนแรงได้โดยเริ่มที่ตัวเรา... มาร่วมมือและยุติความรุนแรงกันเถอะ...

ขอบคุณและอ้างอิงข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลกลางด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย http://www.gender.go.th
เรื่อง/ภาพ/ข้อมูลสถิติบ้านพักฉุกเฉิน: จิตรา นวลละออง(alexlivfc@hotmail.com) ฝ่ายบริหารโครงการและพัฒนาเยาวชน